ใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง
ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ได้แก่ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้
- ผู้สร้างสรรค์งานขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานด้วยตนเองเพียงผู้เดียวหรือผู้สร้างสรรค์งานร่วมกัน
- ผู้สร้างสรรค์ในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง
- ผู้ดัดแปลงหรือผู้รวบรวม โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
- ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่จ้าง เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
- กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น
- ผู้รับโอนสิทธิ
- ผู้พิมพ์โฆษณางานที่ใช้นามแฝงหรือนามปากกาที่ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์
สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์
1. เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ ต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของตนดังต่อไปนี้ มีสิทธิ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลง จำหน่าย ให้เช่า คัดลอก เลียนแบบทำสำเนา การทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตน โดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทนก็ได้
2. นอกจากสิทธิที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองในรูปของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว กฎหมายยังคุ้มครองสิทธิที่เรียกว่า “ธรรมสิทธิ์” หรือสิทธิในทางศีลธรรมด้วย โดยกำหนดว่าผู้สร้างสรรค์มีสิทธิที่จะแสดงตนว่าเป็นผู้สร้างสรรค์และห้ามผู้อื่นมิให้กระทำการ บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือกระทำการให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้สร้างสรรค์
อายุการคุ้มครองสิทธิ์
- งานทั่วๆ ไป ลิขสิทธิ์จะมีตลอดอายุผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอยู่ 50 ปี นับแต่ได้
สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรืองานแพร่เสียง แพร่ภาพ ลิขสิทธิ์มีอยู่ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- งานที่สร้างสรรค์โดยการจ้างหรือตามคำสั่ง มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- งานที่สร้างสรรค์โดยการจ้างหรือตามคำสั่ง มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- งานศิลปประยุกต์ ลิขสิทธิ์มีอยู่ 25 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- กรณีได้มีการโฆษณางานเหล่านั้น ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอยู่ต่อไปอีก 50 ปี นับแต่โฆษณาครั้งแรก ยกเว้นในกรณีศิลปประยุกต์ ให้มีสิทธิ์อยู่ต่อไปอีก 25 นับแต่โฆษณาครั้งแรก

ผลภายหลังลิขสิทธิ์หมดอายุ
งานนั้นตกเป็นสมบัติของสาธารณะ บุคคลใดๆ สามารถใช้งานนั้นๆ ได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

(ที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา)
ลิขสิทธิ์ เป็นผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ลิขสิทธิ์หมายถึงสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
ประเภทของงานสร้างสรรค์ 
งานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ประกอบด้วยงานต่างๆ ดังนี้
งานทั่วไป ได้แก่
- งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์
- งานนาฏกรรม เช่น งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบเป็นเรื่องเป็นราว การแสดงโดยวิธีใบ้
- งานศิลปกรรม เช่น งานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภาพพิมพ์ ภาพประกอบแผนโครงสร้าง ศิลปะประยุกต์ ภาพถ่าย และแผนผังของงาน ดังกล่าว
- งานดนตรีกรรม เช่น เนื้อร้อง ทำนอง โน้ตเพลงที่ได้แยกแยะเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
- งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีดิทัศน์ แผ่นเลเซอร์ดิสก์ เป็นต้น
- งานภาพยนตร์
- งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง แผ่นคอมแพคดิสก์
- งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
- งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

งานสืบเนื่อง ได้แก่
- งานดัดแปลง หมายถึง การทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
- งานรวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกัน โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

สิ่งที่กฎหมายไม่คุ้มครอง 
สิ่งที่กฎหมายไม่คุ้มครอง ได้แก่
- แนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์
- ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้ หรือการทำงาน
สิ่งที่ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
- ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร
- รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
- ประกาศ คำสั่ง ระเบียบ คำชี้แจง ของหน่วยงานรัฐหรือท้องถิ่น
- คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- คำแปล และการรวบรวมสิ่งต่างๆ ข้างต้น ที่หน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่นจัดทำขึ้น

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์
สิทธิในลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันทีนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งมีลักษณะการได้มา ดังนี้
- คุ้มครองทันทีที่ได้มีการสร้างสรรค์งานนั้น
- กรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีสัญชาติในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา ว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
- กรณีมีการโฆษณางานแล้ว ต้องเป็นการโฆษณาครั้งแรกได้ทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคี
- กรณีที่ผู้สร้างเป็นนิติบุคคล ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
 
 
 
หนังสือใหม่ จัดจำหน่ายที่
ร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จำกัด